"จงไปและเชิญทุกคนมางานเลี้ยง" (เทียบ มธ 22:9) ....สารวันแพร่ธรรม ปี 2024....

ประวัติย่อพระกุมารเยซูแห่งกรุงปราก

    ความศรัทธาที่มีต่อพระกุมารเยซูเริ่มขึ้นในเมืองบาโรเก(Baroque) ประเทศสเปน (ราว ศต. 16/17) ตามอัตชีวประวัติของนักบุญเทเราซาแห่งอาวีลาทราบว่าท่านได้นำพระรูปของพระกุมารเยซูติดตัวของท่านไปตลอดเวลาในขณะที่กำลังสร้างอาราม

    การแสดงความเคารพต่อพระกุมารเยซูอย่างเปิดเผยภายใต้พระรูปแห่งปราก ได้เริ่มต้นขึ้นที่เมืองหลวงของสาธารณรัฐเช็กในศตวรรษที่ 17 แต่ความศรัทธาส่วนบุคคลนั้นมีอยู่ในท่ามกลางสมาชิกนักบวชคณะคาร์เมไลท์ (Carmelites) ในกรุงปรากซึ่งย้อนหลังไปในระหว่างศตวรรษที่ 16

    พระรูปของพระกุมารเยซูแห่งปรากมีต้นกำเนิดจากประเทศสเปนในศตวรรษที่ 16 ตามประเพณีสืบทอดกันมาทำให้ทราบว่าพระรูปพระกุมารเยซูนี้ โดนา อีซาเบลา มานรีเก (Dona Isabela Manrique) ได้มอบพระรูปนี้ให้เป็นของขวัญวันแต่งงานให้บุตรสาวชื่อ มารีอา มานรีเก (Maria Manrique) ในปี ค.ศ.1556 ต่อมามารีอา มานรีเก (Maria Manrique) ได้มอบพระรูปนี้ให้ต่อกับบุตรสาวชื่อ ปรินเซส โปลีเซนา (Princess Polyxena) ในปี ค.ศ. 1587 ต่อมา ปรินเซส โปลีเซนา (Princess Polyxena) ได้พระรูปนี้ให้กับคณะคาร์เมไลท์ (Discalced Carmelites) ในกรุงปรากเพื่อจะได้นำไปเผยแผ่ความศรัทธาให้กว้างขวางต่อสาธารณชนต่อไป

    ในช่วงเวลานั้นเอง คุณพ่อซีรีล (Fr.Cyril) หนึ่งในสมาชิกคณะคาร์เมไลท์ได้ทราบคำทำนายของปรินเซส โปลีเซนา (Princess Polyxena) ที่ว่า “ฉันขอมอบทรัพย์สินที่มีคุณค่ามากที่สุดในโลกให้ท่าน ตราบใดที่ท่านให้ความเคารพต่อพระรูปนี้ ท่านจะไม่ต้องการอะไรอื่นอีกเลย” คุณพ่อซีรีลจึงเป็นบุคคลที่มีจิตใจร้อนร้นในการส่งเสริมความศรัทธาต่อพระกุมารเยซู และความศรัทธาของท่านยิ่งเจริญเติบโตขึ้นเนื่องมาจากพระพรต่างๆที่ท่านได้รับในชีวิตทางศาสนาและชีวิตนักบวชของท่าน

    คุณพ่อซีรีลได้เป็นผู้ที่นำความศรัทธาต่อพระกุมารเยซูให้แผ่ขยายไปสู่สากลนิยม แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปโดยง่าย หรือไม่มีอุปสรรคขัดขวางใดๆ ในปี ค.ศ. 1631 พวกขัดแย้งทางศาสนา (Protestant Saxons) ได้บุกโจมตีกรุงปราก และอารามคณะคาร์เมไลท์ได้ถูกทำลาย จนสมาชิกต้องหนีไปอยู่ที่กรุงเวียนา (Vienna) พวกขัดแย้งได้ปลดรูปพระต่างๆลง รวมทั้งทำลายวัดพระแม่มารีย์แห่งชัยชนะ แน่นอนพระรูปพระกุมารเยซูได้ถูกถอดถอนลงและโยนทิ้งไว้ในกองซากปรักหักพังหลังพระแท่นใหญ่ พระรูปของพระกุมารถูกทิ้งและหลงลืมในสภาพนั้นเป็นเวลาเจ็ดปี ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1631 ถึง 1637

    ในปี ค.ศ. 1637 คุณพ่อซีรีลได้กลับมายังกรุงปรากอีกครั้งหนึ่ง และได้ค้นหาพระรูปที่หายไป  หลังจากค้นหาเป็นเวลาหลายวัน ที่สุดคุณพ่อได้พบและนำกลับมาซ่อมแซมในห้องสวดภาวนา การมีพระรูปพระกุมารเยซูอยู่ด้วยนั้นทำให้สมาชิกของคณะได้รับพระพรต่างๆ มากมาย เย็นวันหนึ่งขณะที่คุณพ่อกำลังภาวนาต่อหน้าพระรูปของพระกุมารเยซูอยู่นั้น ท่านได้ยินเสียงหนึ่งกล่าวว่า “จงมีความเมตตาต่อเราและเราจะเมตตาท่าน จงคืนมือให้เราเถิดและเราจะมอบสันติสุขให้ท่าน ยิ่งท่านให้เกียรติเรามากเท่าไร เราจะอวยพรท่านมากกว่านั้น” เมื่อตั้งหลักได้แล้ คุณพ่อจึงสังเกตเห็นว่ามือของพระรูปได้หายไปจริงๆ ท่านจึงนำเรื่องนี้ไปแจ้งให้ผู้ใหญ่ได้ทราบ แต่เนื่องจากอารามไม่เงินเพียงพอ จึงยังไม่สามารถทำการซ่อมแซมได้

    หลังจากนั้นไม่นาน คุณพ่อซีรีลได้รับเงินช่วยเหลือจากผู้มีฐานะดีคนหนึ่ง แต่ผู้ใหญ่ของคณะเห็นว่าในทางปฏิบัติแล้วไม่คุ้มที่จะซ่อมพระรูปเก่านี้ คุณพ่อซีรีลจึงได้ไปหาพระรูปใหม่มาแทนที่ แต่ได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เทียนเล่มใหญ่ที่ตั้งไว้บนเชิงเทียบที่แข็งแรงติดกับฝาผนังวัดได้ล้มลงและได้ทำให้พระรูปใหม่นั้นแตกกระจายไป

    คุณพ่อซีรีลจีงได้กลับไปนำเอาพระรูปเก่ามาตั้งไว้แทน และขณะที่สวดภาวนาอยู่ต่อหน้าพระรูปนั้น มีสมาชิกคนหนึ่งมาเข้ามาบอกคุณพ่อว่ามีสตรีคนหนึ่งต้องการพบ ผู้มาเยียนแปลกหน้าได้มอบเงินจำนวนหนึ่งให้คุณพ่อและบอกว่า “พระเจ้าทรงเห็นใจท่านและส่งฉันให้นำเงินจำนวนนี้มาให้ท่าน” เมื่อคุณพ่อได้กล่าวขอบคุณในน้ำใจดีของเธอ ก็ปรากฏว่าเธอได้หายตัวไปอย่างอัศจรรย์ คุณพ่อแน่ใจว่าหญิงผู้ให้การอุปถัมภ์นั้นไม่ใช่ใครอื่น นอกจากพระแม่มารีย์แห่งภูเขาคาร์เมลนั้นเอง

    คุณพ่อซีรีลได้นำเงินจำนวนนี้ไปมอบให้อธิการของอาราม แต่ก็ต้องเสียใจอย่างมากที่อธิการบอกว่าให้นำเงินจำนวนนี้ไปซ่อมอาราม ดังนั้นคุณพ่อซีรีลจึงได้เข้าไปภาวนาต่อหน้าพระรูปพระกุมารเยซู ขณะที่กำลังภาวนาคุณพ่อได้ยินเสียงพูดกับท่านว่า “จงนำฉันไปวางไว้ที่ประตูห้องซาคริสตี แล้วจะมีคนมาช่วยเหลือฉันเอง” คุณพ่อซีรีลได้ปฏิบัติตามคำแนะนำและหลังจากนั้นไม่นาน ได้มีคนแปลกหน้ามาเยี่ยมอารามและเห็นว่าพระกุมารไม่มีมือ จึงได้เสนอตัวที่จะเป็นผู้ซ่อมพระรูปให้มีมือเหมือนที่เคยเป็น

    เมื่อได้ซ่อมพระรูปพระกุมารเรียบร้อยแล้ว คุณพ่อซีรีลได้นำพระรูปได้ตั้งไว้ในวัดเพื่อให้ทุกคนได้มาแสดงความเคารพ แต่เวลานั้น บรรดาสมาชิกไม่ได้ให้ความสนใจเหมือนสมัยแรกเริ่ม แต่ในช่วงเวลานั้นเองได้เกิดโรคระบาดร้ายแรงขึ้นทั่วกรุงปรากและมีผู้คนเสียชีวิตจำนวนมาก แม้แต่ตัวท่านอธิการของอารามเองก็เกือบจะเอาชีวิตไม่รอด ท่านอธิการจึงตัดสินใจที่จะให้สมาชิกช่วยกันเผยแผ่ความศรัทธาต่อพระกุมารเยซูหลังจากที่ท่านได้ฟื้นตัวจากอาการเจ็บป่วยเพราะโรคระบาดนี้ พระกุมารเยซูจึงได้ชนะใจสมาชิกคาร์เมไลท์ และกลับกลายเป็นศูนย์กลางแห่งความศรัทธาต่อพระกุมารเยซู

    พระศาสนจักรสากลให้การยอมรับและรับรองความศรัทธาต่อพระกุมารเยซูโดย เรเนส คาร์ดินัล ฮาราซ (Ernest Cardinal Harrach) พระอัครสังฆราชแห่งกรุงปราก ในวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1648 ในปี ค.ศ. 1651 อธิการเจ้าคณะคาร์เมไลท์ คุณพ่อฟรังซิสแห่งศีลศักดิ์สิทธิ์ได้เดินทางมาตรวจสอบเรื่องอัศจรรย์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในในอารามแห่งนี้ หลังจากการตรวจสอบแล้ว อธิการเจ้าคณะได้ประกาศรับรองและเห็นชอบกับการแสดงความเคารพต่อพระกุมารเยซู และประกาศชัดเจนว่าการแสดงความเคารพต่อพระกุมารเป็นพระญาณเอื้ออาทรของพระเจ้าเพื่อประโยชน์ฝ่ายจิตของผู้ที่มาวอนขอ ในวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1655 พระรูปของพระกุมารเยซูแห่งกรุงปรากได้รับการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่

    ในศตวรรษที่ 17 ความศรัทธาต่อพระกุมารเยซูได้แผ่ขยายไปอย่างรวดเร็วในหลายๆ ประเทศ แต่เนื่องจากกระแสการพัฒนาในยุคเรืองปัญญา (enlightenment) และยุคต่อต้านศาสนา ทำให้ความศรัทธาของประชาชนลดน้อยลงจนกระทั่งในสมัยของพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ได้ทำการฟื้นฟูความศรัทธาต่อพระกุมารขึ้นใหม่โดยทรงยืนยันด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในปี ค.ศ. 1896 ในศตวรรษที่ 20 เราได้เห็นพระสิริรุ่งโรจน์ที่ยิ่งใหญ่ของกุมารเยซู โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ได้จัดให้องค์กรต่างๆที่มีความศรัทธาต่อพระกุมารเยซูให้รวมเป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้การแนะนำของคณะคาร์เมไลท์

    ปัจจุบันความศรัทธาต่อพระกุมารเยซูได้แผ่ขยายออกไปกว้างไกลทั่วโลก เพราะนอกจากอัศจรรย์ต่างๆ ที่ผู้ที่วอนขอได้รับแล้ว พระกุมารเยซูยังเป็นเครื่องหมายฝ่ายจิตใจสำหรับบุคคลที่มีจิตใจเหมือนเด็กๆ คือ สุภาพ ถ่อมตน ซื่อตรง เรียบง่าย จริงใจ คำมั่นสัญญาที่พระกุมารเยซูทรงให้ไว้นั้น “ยิ่งท่านให้เกียรติเรามากเท่าไร เราจะอวยพรท่านมากกว่านั้น” ยังคงเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนล้านๆทั่วโลกในปัจจุบันนี้

LINKS

www.ppoomm.v

http://www.catholicmission.org.au/http://www.missionsocieties.ca/www.pms-phil.orgwww.missio.org.mthttp://www.obrasmisionalespontificias.es/คณะธรรมทูตไทย

สถิติการเยี่ยมชม

14619229
Today
Yesterday
This Week
This Month
All days
237
269
1535
915
14619229
Your IP: 3.144.255.247
2025-01-04 22:35