ประวัติศาสตร์และพระพรเฉพาะของสมณองค์กรยุวธรรมทูต
ตอนที่ 5
ความสำเร็จขององค์กรยุวธรรมทูต

               งานของยุวธรรมทูตได้ชนะใจของบรรดาพระสังฆราชและพระสงฆ์จำนวนมาก จนทำให้งานยุวธรรมทูตได้แผ่ขยายออกไปอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาเพียงหนึ่งปีเท่านั้น องค์กรยุวธรรมทูตได้เกิดขึ้นใน 65 สังฆมณฑล บรรดาพระสังฆราชได้ออกจดหมายเชิงอภิบาลให้ทุกวัดจัดให้องค์กรยุวธรรมทูตอยู่ในแผนอภิบาลของแต่ละวัด พระสังฆราชหลายท่านได้เขียนจดหมายถึงพระสังฆราชเดอ ฟอร์บิน เจนสันเพื่อให้กำลังใจและแสดงเจตจำนงที่จะให้การสนับสนุนองค์กรยุวธรรมทูต พระสงฆ์เจ้าอาวาสได้สอนให้เด็กรักกันและกัน ให้เป็นพี่เป็นน้องกัน แม้ว่าจะอยู่ห่างไกลกัน หรือจะไม่เคยรู้จักหรือเห็นหน้ากันมาก่อนก็ตาม

                มีเรื่องหนึ่งที่เล่าขานสืบเนื่องกันมาว่า มีเด็กชายคนหนึ่งอายุ 8 ขวบจากสังฆมณฑล Bordeaux ฝรั่งเศส เกิดความประทับใจในคำเทศน์ของคุณพ่อเจ้าอาวาสที่พูดถึงความจำเป็นที่เราเด็กๆทุกคนจะต้องช่วยเหลือเด็กที่ยากจนในประเทศจีนโดยการภาวนาและการบริจาคเงิน เมื่อเขากลับมาถึงบ้าน เขาได้พูดกับคุณแม่ของเขาว่า
“เราต้องช่วยเหลือเด็กๆในประเทศจีนนะครับ แม่”
“ถูกแล้วลูก..แต่ครอบครัวของเราไม่มีเงินพอที่จะส่งไปช่วยเหลือพวกเขาดอกนะ” แม่ตอบ
“แต่ผมคิดว่าเราทำได้นะครับ” พูดพลางชี้ไปที่กระปุ๊กออมสินที่ครอบครัวได้ตั้งไว้บนหลังตู้
“ลูกจ๊ะ..เราต้องใช้เงินนั้นเพื่อไปซื้ออาหารนะลูก ถ้าเราเอาเงินนี้ไปบริจาคเราก็จะไม่มีอาหารไว้สำหรับทุกคนในครอบครัวของเรานะ”
“เราจะอยู่โดยไม่มีอาหาร เพราะว่าเราได้ช่วยเหลือพระเจ้าหรือครับ...แม่”
เด็กคนนั้นทิ้งคำถามชวนคิดแม่

               ในเดือนธันวาคมปี 1843 พระสังฆราชเดอ ฟอร์บิน เจนสันได้เขียนจดหมายข่าวเรื่องยุวธรรมทูตไว้ว่า องค์กรยุวธรรมทูตได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เนอร์เธอแลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ อิตาลี อังกฤษ สหรัฐอเมริกาและแคนาดา หนึ่งปีต่อมางานยุวธรรมทูตได้เริ่มต้นที่ประเทศจีนโดยมีสตรีในศรัทธาคนหนึ่งได้ออกไปตามบ้านเพื่อให้การดูแลเด็กๆที่อยู่ในอันตรายใกล้ตาย เพื่อล้างบาปให้พวกขเและนำมาให้บรรดามิชชันนารี

             ในไม่ช้าการทำงานช่วยเหลือเด็กกำพร้าโดยองค์กรยุวธรรมทูตได้ให้การดูแลเด็กถึงสองพันคน และมีพ่อแม่จำนวนมากเมื่อเห็นว่าลูกๆของตนเองได้รับการเลี้ยงดูและได้เล่าเรียนจึงได้กลับมาเอาลูกของตนกลับบ้านไปเลี้ยงดูต่อไป

              ผู้ก่อตั้งเริ่มเห็นความก้าวหน้าขององค์กร แต่หลังจากทุ่มเททำงานอย่างจริงจังพระเจ้าได้ทรงเรียกท่านกลับไปหาพระองค์ ส่วนงานยุวธรรมทูตนั้นได้รับการสืบสานต่อกันเรื่อยมา ในสมัยของพระสังฆราชเดอ ฟอร์บิน เจนสัน ท่านได้มอบเงินให้กับพระศาสนจักรจีนเป็นจำนวนเงิน 3,500 ฟรังค์ ผลจากกิจการแห่งความรักของเด็กๆนี้เองที่ช่วยทำให้เด็กอื่นๆได้รับศีลล้างบาปด้วย

แม้จะเป็นเพียงเด็กๆแต่ก็สามารถทำงานใหญ่ได้
            นี่เป็นเพียงการเริ่มต้นในความร่วมมืออย่างแข็งขันระหว่างองค์กรยุวธรรมทูตกับพระศาสนจักรใหม่ในประเทศจีน มีเอกสารหลายฉบับที่ทำให้เห็นถึงความก้าวหน้า และความกระตือรือร้นของบรรดาธรรมทูตน้อยๆของพระเจ้าในงานแพร่ธรรม องค์กรยุวธรรมทูตได้สร้างบรรยากาศแห่งเกิดความร่วมมือซึ่งกันและกัน

            มีเอกสารหลายหลายฉบับที่เขียนโดยมรณสักขีและนักบุญหลายท่านซึ่งเป็นบุคคลที่เคยร่วมงานกับเด็กๆ เช่น คูเอนอต(Cuenot :1802-1861) Janssen(เจนส์เสน) Freinademetz(ไฟรนาเดเมทซ์) Comboni(คอมโบนี) Don Bosco(ดอนบอสโก) Don Rua(ดอนรัว) Bishop Grassi(พระสังฆราช กรัสสี) ผู้ใหญ่ของพระศาสนจักรได้เขียนจดหมายถึงเด็กๆเพื่อขอบคุณพวกเขาสำหรับสิ่งของต่างๆและการภาวนา โดยที่พวกเด็กๆได้อุทิศตนสวดบทวันทามารีย์และบริจาคเงิน ผลของการเสียสละเช่นนี้ทำให้เกิด “ความร่วมมือระหว่างพระศาสนจักรในที่ต่างๆกับเด็กๆ” จดหมายต่างๆจำนวนมากนี้มีความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์ในฐานะที่เป็นข่าวที่ไม่ได้รับการตีพิมพ์และเป็นข้อมูลที่แสดงออกถึงความใจดีของบรรดาเด็กๆ ในเวลาที่นโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศฝรั่งเศสก่อให้เกิดปัญหากับรัฐบาลจีน บรรดามิชชันนารีกลับเป็นเหยื่อของความขัดแย้ง ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ในปี 1870 ที่เมืองเทียนสิน สมาชิกคณะวินเชนเชี่ยน 2 คน และสมาชิกคณะดอเธอะออฟแชริตี(Daughters of Charity) 10 คนได้ถูกฆ่าตายในขณะที่ทำงานในศูนย์เด็กกำพร้าของยุวธรรมทูต

            องค์กรยุวธรรมทูตได้เจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งนี้เพราะความร้อนรนของบรรดาพระสังฆราชและพระสงฆ์ แต่เหนือสิ่งอื่นใดได้มีกลุ่มฆราวาสและนักบวชสตรีที่มีใจศรัทธาได้ร่วมมือกันปลุกจิตสำนึกจิตตารมณ์ธรรมทูตให้กับบรรดาเด็กๆและส่งเสริมให้ครอบครัวได้ช่วยกันแพร่ธรรมด้วย

             ในทุกๆประเทศ องค์กรยุวธรรมทูตได้บรรดาสตรีใจศรัทธาอุทิศตนช่วยเหลือมาโดยตลอด เพราะว่าพวกเขารู้จักวิธีที่จะทำให้เด็กๆเกิดความกระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือเด็กๆด้วยกันอย่างไร หลายคนตัดสินใจสมัครเข้าเป็นธรรมทูตเพื่อจะได้ออกไปทำงานกับบุคคลหรือในดินแดนที่ยังไม่รู้จักพระเจ้า(Ad gentes) บรรดาครอบครัวคริสตชนเองต่างมีความยินดีที่จะช่วยเหลืองานธรรมทูตและยินยอมที่จะให้ลูกๆของพวกตนเข้าเป็นสมาชิกขององค์กรยุวธรรมทูตตั้งแต่วันที่พวกเขาได้รับศีลล้างบาป และพวกเขายังได้ถวายปัจจัยเพื่อช่วยเหลือเด็กๆชาวจีนให้สามารถรับศีลล้างบาปด้วย ความร่วมมือระหว่างองค์กรยุวธรรมทูตกับครอบครัวนั้นมีแบบอย่างที่น่าสรรเสริญก็คือครอบครัวของนักบุญเทเรซา มาร์ติน ก่อนที่ท่านจะเข้าเป็นซิสเตอร์คณะคาร์เมไลท์และเป็นองค์อุปถัมภ์ของธรรมทูตนั้น ท่านได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์กรยุวธรรมทูตในวันที่ 12 มกราคม 1889 เมื่ออายุได้ 9 ปี