“ใจที่เร่าร้อนเป็นไฟ เท้าต้องก้าวเดินไป" (เทียบ ลก 24:13-35) ....สารวันแพร่ธรรม ปี 2023....

สาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส
สำหรับวันแพร่ธรรมสากล ปี 2022

“ท่านจะเป็นพยานถึงเรา” (กจ 1.8)

สาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส สำหรับวันแพร่ธรรมสากล ปี 2022พี่น้องชายหญิงที่รัก!

               พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพตรัสพระวาจาเหล่านี้แก่บรรดาศิษย์ของพระองค์ก่อนเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ ดังที่บรรยายไว้ในหนังสือกิจการอัครสาวกว่า “พระจิตเจ้าจะเสด็จลงมาเหนือท่าน และท่านจะรับอานุภาพเพื่อจะเป็นพยานถึงเราในกรุงเยรูซาเล็ม ทั่วแคว้นยูเดีย แคว้นสะมาเรีย จนถึงสุดปลายแผ่นดิน” (1.8) ข้อความเหล่านี้ยังเป็นหัวข้อของวันแพร่ธรรมสากลของ ปี 2022 ซึ่งเตือนเราเสมอว่า พระศาสนจักรเป็นธรรมทูตโดยธรรมชาติ วันแพร่ธรรมสากลปีนี้ เปิดโอกาสให้เราระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญหลายประการในชีวิตและพันธกิจของพระศาสนจักร คือ ครบรอบ 400 ปี ของการก่อตั้ง สมณกระทรวงการเผยแพร่ความเชื่อ(Congregation de Propaganda Fide) ปัจจุบันคือ สมณกระทรวงการประกาศพระวรสารสู่ปวงชน(Congregation for the Evangelization of Peoples) และครบรอบ 200 ปี ของสมณองค์กรเผยแพร่ความเชื่อ และครบรอบ 100 ปี ของสมณองค์กรยุวธรรมทูต และสมณองค์กรนักบุญเปโตรอัครสาวก ซึ่งได้รับการยอมรับภายใต้ชื่อ "สมณองค์กร"

              ให้เราไตร่ตรองวลีสำคัญสามประการที่สรุปอยู่บนพื้นฐานสามประการของชีวิตและพันธกิจของบรรดาศิษย์ทุกคน คือ “ท่านจะเป็นพยานถึงเรา” “จนถึงที่สุดปลายแผ่นดิน” และ “ท่านจะรับอานุภาพพระจิตเจ้า”

  1. “ท่านจะเป็นพยานถึงเรา” การเรียกคริสตชนทุกคนให้เป็นประจักษ์พยานถึงพระคริสตเจ้า

                นี่เป็นจุดศูนย์กลาง ซึ่งเป็นหัวใจของคำสอนของพระเยซูเจ้าที่ประทานให้กับบรรดาศิษย์ ในแง่ของการถูกส่งออกไปในโลก บรรดาศิษย์ต้องเป็นประจักษ์พยานถึงพระเยซูเจ้า ขอบคุณพระหรรษทานของพระจิตเจ้าที่พวกเขาจะได้รับ ไม่ว่าพวกเขาจะไปที่ไหนและในที่ใดก็ตาม พวกเขาพบพระหรรษทานเหล่านี้ด้วยตัวพวกเขาเอง พระคริสตเจ้าทรงเป็นคนแรกที่ถูกส่งมาเป็น “ธรรมทูต” ของพระบิดา (เทียบ ยน 20.21) และด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงเป็น “ประจักษ์พยานที่ซื่อสัตย์” ของพระบิดา (เทียบ วว 1.5) ในทำนองเดียวกัน คริสตชนทุกคนได้รับเรียกให้เป็นธรรมทูตและเป็นประจักษ์พยานถึงพระคริสตเจ้า และพระศาสนจักร ซึ่งเป็นชุมชนศิษย์พระคริสตเจ้า ไม่มีพันธกิจอื่นใดนอกจากการประกาศพระวรสารไปทั่วโลก ด้วยการเป็นประจักษ์พยานถึงพระคริสตเจ้า อัตลักษณ์ของพระศาสนจักรคือการประกาศพระวรสาร

                 การมองลึกลงไปที่คำว่า “ท่านจะเป็นพยานถึงเรา” สามารถชี้แจงบางแง่มุมของพระพันธกิจที่พระคริสตเจ้าทรงมอบหมายแก่บรรดาศิษย์ได้ในเวลาที่เหมาะสม กริยารูปพหูพจน์เน้นย้ำถึงธรรมชาติของชุมชนและของพระศาสนจักร แห่งกระแสเรียกการเป็นธรรมทูตของบรรดาศิษย์ ทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาปแล้วได้รับเรียกสู่การแพร่ธรรม ในพระศาสนจักรและโดยอำนาจที่ได้รับมอบหมายของพระศาสนจักร ด้วยเหตุนี้ การแพร่ธรรมจึงดำเนินไปพร้อมกัน มิใช่เป็นรายบุคคล แต่ในความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับชุมชนของพระศาสนจักร และไม่ใช่ตามความคิดริเริ่มของตนเอง แม้แต่ในกรณีที่บุคคลในสถานการณ์เฉพาะบางอย่างก็มิได้ดำเนินพันธกิจการประกาศพระวรสารเพียงลำพัง เขาต้องกระทำเช่นนั้นในความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับพระศาสนจักรที่มอบหมายให้เขา ดังที่นักบุญสมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 ทรงสอนในสมณสาส์นเตือนใจ “การประกาศพระวรสารในโลกปัจจุบัน”(Evangelii Nuntiandi) เอกสารที่ข้าพเจ้ารักว่า “การประกาศพระวรสารไม่ใช่กิจกรรมส่วนตัวและแยกต่างหากของผู้ใดผู้หนึ่ง แต่เป็นกิจกรรมของพระศาสนจักรโดยแท้ เมื่อผู้เทศน์ ครูคำสอน หรือผู้อภิบาลสัตบุรุษคนใดคนหนึ่ง แม้ที่ต่ำต้อยที่สุดในดินแดนที่อยู่ห่างไกลแสนไกล ประกาศพระวรสาร รวมชุมชนเล็กๆเข้าด้วยกัน จัดการเรื่องศีลศักดิ์สิทธิ์ แม้เพียงคนเดียวนั้น เขาก็ประกอบกิจกรรมของพระศาสนจักร และการประกอบกิจกรรมนั้นนับรวมเข้ากับงานประกาศพระวรสารของพระศาสนจักร มิใช่ด้วยความเกี่ยวพันทางด้านสถาบันเท่านั้น แต่ด้วยสายสัมพันธ์ที่แลเห็นไม่ได้และลึกซึ้งของพระหรรษทานด้วย ที่กล่าวนี้หมายความว่า เขาประกอบกิจกรรมนั้นโดยมิได้ถือว่าเป็นภารกิจที่ตนต้องทำหรือโดยความคิดอ่านของเขาเอง  แต่โดยร่วมมือในภารกิจของพระศาสนจักรและในนามของพระศาสนจักร” (EN 60) แท้จริงแล้ว ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่พระเยซูเจ้าทรงส่งบรรดาศิษย์ของพระองค์ออกไปเป็นคู่ๆ การเป็นประจักษ์พยานถึงพระคริสตเจ้าของคริสตชนนั้นเป็นไปในลักษณะของชุมชนเป็นหลัก จากแก่นสำคัญในการมีอยู่ของชุมชนความเชื่อ แม้จะเป็นชุมชนเล็กๆ แต่ก็เป็นการทำให้พันธกิจการแพร่ธรรมเจริญก้าวหน้า

                 นอกจากนี้ บรรดาศิษย์ยังถูกเรียกร้องให้ดำเนินชีวิตส่วนตัวในแก่นแท้ของการเป็นธรรมทูต พระเยซูเจ้าทรงส่งพวกเขาไปยังโลกไม่เพียงเพื่อแพร่ธรรมเท่านั้น แต่พร้อมกับและเหนืออื่นใด คือเพื่อดำเนินชีวิตตามพันธกิจที่พวกเขาได้รับมอบหมาย มิใช่เพียงเพื่อเป็นประจักษ์พยานเท่านั้น แต่เหนือสิ่งอื่นใด เพื่อเป็นประจักษ์พยานถึงพระคริสตเจ้าด้วย ดังถ้อยคำกระตุ้นเตือนของอัครสาวกเปาโลที่ว่า  “เราแบกความตายของพระเยซูเจ้าไว้ในร่างกายของเราอยู่เสมอ เพื่อว่าชีวิตของพระเยซูเจ้าจะปรากฏอยู่ในร่างกายของเราด้วย” (2 คร 4.10) แก่นแท้ของการแพร่ธรรมคือการเป็นประจักษ์พยานถึงพระคริสตเจ้า นั่นคือ ต่อชีวิตของพระองค์ ความทุกข์ทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพ เพื่อความรักต่อพระบิดาและต่อมนุษยชาติ การที่บรรดาอัครสาวกมองหาผู้ที่จะมาแทนที่ของยูดาสในบรรดาผู้ที่เคยเป็นประจักษ์พยานถึงการกลับคืนพระชนมชีพขององค์พระผู้เป็นเจ้าเหมือนพวกเขา (เทียบ กจ 1.21) ไม่ใช่เป็นเหตุบังเอิญ เป็นพระคริสตเจ้า และเป็นพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพอย่างแท้จริง ทรงเป็นพระผู้ที่เราต้องเป็นประจักษ์พยานถึง และทรงเป็นผู้ที่เราต้องแบ่งปันชีวิตของพระองค์ บรรดาธรรมทูตของพระคริสตเจ้าไม่ได้ถูกส่งมาเพื่อประกาศตนเอง เพื่อแสดงคุณสมบัติและความสามารถที่โน้มน้าวใจ หรือทักษะการจัดการของพวกเขา ในทางกลับกัน พวกเขาได้รับเกียรติสูงสุดในการนำเสนอพระคริสตเจ้าด้วยวาจาและการกระทำ โดยประกาศข่าวดีแห่งการช่วยให้รอดพ้นของพระองค์แก่ทุกคน ดังที่บรรดาอัครสาวกกลุ่มแรกกระทำ ด้วยความยินดีและอย่างตรงไปตรงมา

                ในการวิเคราะห์ขั้นสุดท้าย ประจักษ์พยานที่แท้จริงคือ "มรณสักขี" ผู้ที่สละชีวิตของตนเพื่อพระคริสตเจ้า ตอบแทนพระพรที่พระองค์ได้ทรงกระทำเพื่อเราด้วยพระองค์เอง “แรงบันดาลใจประการแรกในการประกาศพระวรสาร คือ ความรักของพระเยซูเจ้าที่เราได้รับ ประสบการณ์แห่งการช่วยให้รอดพ้นที่เราได้รับจากพระองค์ผู้ทรงผลักดันให้เรารักพระองค์มากยิ่งขึ้นเสมอ” (EG 264)

                ในที่สุด เมื่อพูดถึงการเป็นประจักษ์พยานของคริสตชน จากการสังเกตของนักบุญสมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 ยังคงใช้ได้อยู่เสมอ “คนสมัยนี้ตั้งใจฟังการเป็นประจักษ์พยานมากกว่าครู หรือถ้าเขาฟังครู ก็เพราะครูเป็นประจักษ์พยาน”(EN 41) ด้วยเหตุผลนี้ ประจักษ์พยานของชีวิตคริสตชนแท้จึงเป็นพื้นฐานสำหรับการถ่ายทอดความเชื่อ นอกเหนือจากนี้ งานการประกาศพระบุคคลของพระคริสตเจ้าและคำพูดของพระองค์ก็มีความจำเป็นเท่าเทียมกัน อันที่จริง นักบุญสมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 ได้กล่าวต่อไปว่า “การเทศน์สอน หรืออีกนัยหนึ่งคือการประกาศสารด้วยวาจานี้ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยจริงๆ... คำพูดยังคงเหมาะกับยุคของเราอยู่เสมอ เป็นต้นว่าถ้าคำพูดนั้นมีอำนาจของพระเป็นเจ้าอยู่ ด้วยเหตุนี้ หลักความจริงของนักบุญเปาโลที่ว่า “ความเชื่อจึงมาจากการฟัง” (รม 10 .17) จึงเป็นความจริงทีเดียวที่ พระวาจาที่ได้ยินนั้นจะนำไปสู่ความเชื่อ” (EN 42)

                  ในการประกาศพระวรสาร แบบอย่างชีวิตคริสตชนและการประกาศพระคริสตเจ้านั้นแยกจากกันไม่ได้ ต่างรับใช้กันและกัน เป็นปอดสองข้างที่ทุกชุมชนจะต้องหายใจหากต้องการเป็นธรรมทูต การเป็นประจักษ์พยานถึงพระคริสตเจ้าที่สมบูรณ์ สม่ำเสมอ และด้วยความชื่นชมยินดีเช่นนี้จะเป็นแรงดึงดูดสำหรับการเติบโตของพระศาสนจักรในสหัสวรรษที่สามอย่างแน่นอน ข้าพเจ้าขอเตือนทุกคนให้นำความกล้าหาญ ความตรงไปตรงมา และความกระตือรือร้นแบบคริสตชนกลุ่มแรกมาใช้อีกครั้ง เพื่อเป็นประจักษ์พยานถึงพระคริสตเจ้าด้วยวาจาและการกระทำในทุกด้านของชีวิต

  1. “จนถึงสุดปลายแผ่นดิน” ความจริงตลอดกาลของพันธกิจการประกาศพระวรสารสากล

                  ในการบอกบรรดาศิษย์ให้เป็นประจักษ์พยานถึงพระองค์ องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ยังบอกด้วยว่าพวกเขาจะถูกส่งไปที่ใด “ในกรุงเยรูซาเล็ม ทั่วแคว้นยูเดีย แคว้นสะมาเรียจนถึงสุดปลายแผ่นดิน” (กจ 1.8) ที่นี่เราเห็นลักษณะสากลของพันธกิจของบรรดาศิษย์อย่างชัดเจน นอกจากนี้เรายังเห็นการขยายตัวทางภูมิศาสตร์แบบ "ออกจากจุดศูนย์กลาง" ราวกับว่าอยู่ในวงกลมศูนย์กลางของพันธกิจ โดยเริ่มจากกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งประเพณีของชาวยิวถือว่าเป็นศูนย์กลางของโลก ไปจนถึงแคว้นยูเดีย และแคว้นสะมาเรีย และจนถึง "สุดปลายแผ่นดิน" บรรดาศิษย์ไม่ได้ถูกส่งไปเพื่อเปลี่ยนศาสนา แต่เพื่อการประกาศ คริสตชนไม่ไปเปลี่ยนศาสนาใคร หนังสือกิจการอัครสาวก กล่าวถึงการขยายขอบเขตการเป็นธรรมทูตนี้และให้ภาพพจน์ที่เด่นชัดของพระศาสนจักรที่ “ออกไป” ด้วยความซื่อสัตย์ต่อการเรียกของพระศาสนจักรให้เป็นประจักษ์พยานถึงพระคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้า และได้รับการนำทางโดยพระญาณเอื้ออาทรของพระเจ้าในสภาพที่เป็นรูปธรรมในชีวิตของพระศาสนจักร คริสตชนกลุ่มแรกถูกเบียดเบียนในกรุงเยรูซาเล็ม และแพร่กระจายไปทั่วแคว้นยูเดียและแคว้นสะมาเรีย คริสตชนกลุ่มแรกเป็นประจักษ์พยานถึงพระเยซูเจ้าในทุกหนทุกแห่งอย่างมีประสิทธิภาพ (เทียบ กจ 8.1, 4)

                  สิ่งที่คล้ายกันยังคงเกิดขึ้นในสมัยของเรา เนื่องจากการกดขี่ทางศาสนาและสถานการณ์ของสงครามและความรุนแรง คริสตชนจำนวนมากถูกบังคับให้หนีจากบ้านเกิดของตนไปยังประเทศอื่น เรารู้สึกขอบคุณพี่น้องเหล่านี้ที่ไม่จมอยู่ในความทุกข์ทรมานของตัวเอง แต่เป็นประจักษ์พยานถึงพระคริสตเจ้าและความรักของพระเจ้าในประเทศที่ยอมรับพวกเขา ดังนั้น นักบุญสมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 จึงสนับสนุนให้พวกเขาตระหนักถึง “ความรับผิดชอบต่อผู้อพยพในประเทศที่รับพวกเขา” (EN 21) เราเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าการมีอยู่ของบรรดาผู้มีความเชื่อจากหลายเชื้อชาติทำให้เห็นเป็นใบหน้าของชุมชนวัด และทำให้พวกเขาเป็นสากล และเป็นคาทอลิกมากขึ้นได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้ การอภิบาลดูแลผู้อพยพย้ายถิ่นควรได้รับการดูแลเป็นกิจกรรมธรรมทูตที่สำคัญ ซึ่งสามารถช่วยให้สัตบุรุษในท้องถิ่นค้นพบความชื่นชมยินดีในความเชื่อคริสตชนที่พวกเขาได้รับอีกครั้ง

                   คำว่า “จนถึงสุดปลายแผ่นดิน” ควรท้าทายบรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้าในทุกยุคทุกสมัยและผลักดันพวกเขาให้ออกไปไกลกว่าที่คุ้นเคยเพื่อการเป็นประจักษ์พยานถึงพระองค์ แม้ว่าจะมีเครื่องอำนวยความสะดวกที่จำเป็นทุกอย่างมีความก้าวหน้าทันสมัย ยังมีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ซึ่งการเป็นประจักษ์พยานธรรมทูตของพระคริสตเจ้าเพื่อนำข่าวดีแห่งความรักของพระองค์ยังไปไม่ถึง นอกจากนั้น ความจริงของมนุษย์ก็ไม่ต่างจากความกังวลของบรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้าในพันธกิจของพวกเขา พระศาสนจักรของพระคริสตเจ้าจะต้อง "ออกไป" เสมอ เพื่อมุ่งสู่ขอบฟ้าใหม่ทางภูมิศาสตร์ สังคม และขอบฟ้าของการดำรงอยู่ ไปสู่ “พรมแดน” แห่งสถานที่และสถานการณ์ของมนุษย์ เพื่อเป็นประจักษ์พยานถึงพระคริสตเจ้าและความรักของพระองค์ที่ทรงมีต่อมนุษย์ชายและหญิงทุกคน วัฒนธรรม และสถานะทางสังคม ในแง่นี้ การแพร่ธรรมจะเป็นการแพร่ธรรมสู่นานาชาติ ตามที่สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ได้สอนไว้ พระศาสนจักรต้องมุ่งไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง เกินขอบเขตของตน เพื่อเป็นประจักษ์พยานถึงความรักทั้งมวลของพระคริสตเจ้า ณ ที่นี่ ข้าพเจ้าอยากจะจดจำและแสดงความขอบคุณต่อบรรดาธรรมทูตทุกคนที่สละชีวิตเพื่อ “ก้าวไปไกลยิ่งขึ้น” ในการแสดงความรักของพระคริสตเจ้าที่มีต่อพี่น้องชายและหญิงทุกคนที่พวกเขาพบ

  1. “ท่านจะรับอานุภาพจากพระจิตเจ้า” ขอให้เราได้รับพละกำลังและการนำทางจากพระจิตเจ้าเสมอ

                เมื่อพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพทรงมอบหมายให้บรรดาศิษย์เป็นประจักษ์พยานถึงพระองค์ พระองค์ยังทรงสัญญากับพวกเขาถึงพระหรรษทานที่จำเป็นสำหรับความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่นี้ “พระจิตเจ้าจะเสด็จลงมาเหนือท่าน และท่านจะรับอานุภาพเพื่อจะเป็นพยานถึงเรา” (กจ 1.8) ตามเรื่องราวในหนังสือกิจการอัครสาวก เป็นการสืบเนื่องมาจากการเสด็จลงมาของพระจิตเจ้าเหนือบรรดาศิษย์ว่ากิจการแรกของการเป็นประจักษ์พยานถึงพระคริสตเจ้าผู้ถูกตรึงบนกางเขนและกลับคืนพระชนมชีพได้เกิดขึ้นด้วยการประกาศสอนเรื่องพระเยซูเจ้าที่เรียกว่า การประกาศสอนทางธรรมทูตของนักบุญเปโตรกับผู้อาศัยอยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม เป็นการเปิดศักราชที่บรรดาศิษย์ของพระเยซูประกาศพระวรสารแก่โลก ในขณะที่พวกเขาเคยอ่อนแอ หวาดกลัว และปิดตนเอง พระจิตเจ้าได้ทรงประทานพละกำลัง ความกล้าหาญ และปรีชาญาณแก่พวกเขาในการเป็นประจักษ์พยานถึงพระคริสตเจ้าต่อหน้าทุกคน

                เช่นเดียวกับที่ "หากพระจิตเจ้ามิได้ทรงดลใจก็ไม่มีผู้ใดพูดได้ว่า 'พระเยซูคือองค์พระผู้เป็นเจ้า” (1 คร 12.3) ดังนั้น จึงไม่มีคริสตชนคนใดสามารถเป็นประจักษ์พยานถึงพระคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างสมบูรณ์และแท้จริงได้หากปราศจากการดลใจและความช่วยเหลือจากพระจิตเจ้า ด้วยเหตุนี้ศิษย์ธรรมทูตของพระคริสตเจ้าทุกคนได้รับเรียกให้ตระหนักถึงความสำคัญที่เป็นหัวใจของงานของพระจิตเจ้า ให้การประทับของพระองค์สถิตอยู่ทุกวัน รับพละกำลังและการนำทางที่ไม่มีวันล้มเหลวจากพระองค์ แน่นอนเมื่อเรารู้สึกเหนื่อย ไม่มีแรงกระตุ้น หรือสับสน ควรจำไว้ว่าให้เราอธิษฐานภาวนาวอนขอความช่วยเหลือจากพระจิตเจ้า ข้าพเจ้าขอเน้นย้ำอีกครั้งว่าการอธิษฐานภาวนามีบทบาทเป็นรากฐานสำคัญในชีวิตธรรมทูต เพราะการอธิษฐานภาวนาช่วยให้เราได้รับความสดชื่นและได้รับพลังจากพระจิตเจ้า ซึ่งเป็นที่มาอันศักดิ์สิทธิ์ของการฟื้นฟูพลังและความปีติยินดีในการแบ่งปันชีวิตของพระคริสตเจ้ากับผู้อื่น “การได้รับความปิติยินดีของพระจิตเจ้าเป็นพระหรรษทาน ยิ่งกว่านั้นเป็นกำลังเดียวที่ช่วยให้เราสามารถเทศน์สอนพระวรสารและยืนยันความเชื่อของเราในองค์พระผู้เป็นเจ้า” (สารถึงสมณองค์กรสนับสนุนงานแพร่ธรรม :PMS 21 พฤษภาคม 2020) พระจิตเจ้าจึงเป็นตัวเอกที่แท้จริงของการแพร่ธรรม พระองค์ทรงเป็นผู้ประทานถ้อยคำที่ถูกต้อง ในเวลาที่เหมาะสม และในวิถีทางที่ถูกต้องแก่เรา

                จากการกระทำดังกล่าวของพระจิตเจ้า เรายังต้องการนึกถึงวันครบรอบการเป็นธรรมทูตที่จะมีการเฉลิมฉลองในปี 2022 การก่อตั้ง สมณกระทรวงการเผยแพร่ความเชื่อ(Congregation de Propaganda Fide) ในปี 1622 ได้รับแรงบันดาลใจจากความปรารถนาที่จะส่งเสริมสนับสนุนคำสั่งในการเป็นธรรมทูตในดินแดนใหม่ เป็นพระญาณเอื้ออาทรอย่างแท้จริง สมณกระทรวงได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้พันธกิจการประกาศของพระศาสนจักรปราศจากการแทรกแซงจากอำนาจทางโลกอย่างแท้จริง เพื่อที่จะก่อตั้งพระศาสนจักรท้องถิ่นเหล่านั้น ซึ่งปัจจุบันแสดงถึงพลังอันยิ่งใหญ่ เราหวังว่าในสี่ศตวรรษที่ผ่านมา ด้วยความสว่างและพลังของพระจิตเจ้า สมณกระทรวงจะดำเนินต่อไปและทำงานให้เข้มข้นขึ้นในเรื่องของการประสานงาน การจัดระเบียบ และส่งเสริมกิจกรรมธรรมทูตของพระศาสนจักร

                พระจิตเจ้าองค์เดียวกันที่ทรงนำทางพระศาสนจักรสากล ยังทรงเป็นแรงบันดาลใจให้ชายและหญิงธรรมดาทั่วไปสำหรับพันธกิจพิเศษ ดังนี้ เปาลีน จารีคอต สตรีชาวฝรั่งเศสจึงได้ก่อตั้ง องค์กรเผยแพร่ความเชื่อ(Society for the Propagation of the Faith) เมื่อ 200 ปีก่อน การประกาศเป็นบุญราศีของเธอจะได้รับการเฉลิมฉลองในปีกาญจนาภิเษกนี้ แม้ว่าจะมีสุขภาพไม่ดี เธอยอมรับการดลใจจากพระเจ้าในการสร้างเครือข่ายการอธิษฐานภาวนาและการเรี่ยไรเงินสำหรับบรรดาธรรมทูต เพื่อให้บรรดาสัตบุรุษสามารถมีส่วนร่วมในการแพร่ธรรม "จนถึงสุดปลายแผ่นดิน" อย่างกระตือรือร้น ความคิดอันยอดเยี่ยมนี้ทำให้เกิดการเฉลิมฉลองประจำปีของวันแพร่ธรรมสากล ซึ่งเงินที่รวบรวมได้จากชุมชนท้องถิ่นทุกแห่ง สมเด็จพระสันตะปาปาจะทรงนำไปใช้เป็นกองทุนสากลที่สนับสนุนกิจกรรมธรรมทูต

                ในบริบทนี้ ข้าพเจ้านึกถึงพระสังฆราชชาวฝรั่งเศส ชาร์ล เดอ ฟอร์แบง เจนสัน ผู้ก่อตั้งองค์กร    ยุวธรรมทูต(Holy Childhood) เพื่อส่งเสริมการแพร่ธรรมในระหว่างเด็กๆ โดยมีคติพจน์ว่า “เด็กประกาศข่าวดีกับเด็ก เด็กสวดภาวนาเพื่อเด็ก เด็กช่วยเด็กทั่วโลก" ข้าพเจ้ายังนึกถึงเจน บิการ์ด ผู้ริเริ่มองค์กรนักบุญ เปโตรอัครสาวก(Society of Saint Peter the Apostle) เพื่อการสนับสนุนบรรดาสามเณรและพระสงฆ์ในดินแดนแพร่ธรรม ทั้งสามองค์กรนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็น“สมณองค์กร”เมื่อหลายร้อยปีก่อน นอกจากนี้ยังอยู่ภายใต้การดลใจและการนำทางของพระจิตเจ้าที่บุญราศีเปาโล มานนา เกิดเมื่อ 150 ปีที่แล้ว ได้ก่อตั้งสมณองค์กรสหพันธ์ธรรมทูตของพระสงฆ์และนักบวช(Pontifical Missionary Union)ในปัจจุบัน เพื่อปลุกจิตสำนึกและส่งเสริมจิตตารมณ์การเป็นธรรมทูตท่ามกลางบรรดาพระสงฆ์ นักบวชชายและหญิง และประชากรทั้งมวลของพระเจ้า นักบุญสมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 เองทรงเป็นส่วนหนึ่งของสมณองค์กรนี้ และทรงยืนยันถึงการยอมรับของสันตะสำนัก ข้าพเจ้ากล่าวถึงองค์กรสนับสนุนงานแพร่ธรรมของสันตะสำนัก(PMS) ทั้งสี่สมณองค์กร สำหรับคุณความดีทางประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของพวกเขา แต่ยังขอส่งเสริมพวกท่านให้ชื่นชมยินดีกับพวกเขาในปีพิเศษนี้ สำหรับกิจกรรมต่างๆที่พวกเขากระทำเพื่อสนับสนุนพันธกิจการประกาศพระวรสารในพระศาสนจักรทั้งในระดับสากลและระดับท้องถิ่น เป็นความหวังของข้าพเจ้าที่พระศาสนท้องถิ่นจะพบว่าในสมณองค์กรเหล่านี้มีวิธีการที่แน่นอนในการสนับสนุนจิตตารมณ์ธรรมทูตในหมู่ประชาชนของพระเจ้า

                  พี่น้องชายและหญิงที่รัก ข้าพเจ้ายังคงฝันถึงพระศาสนจักรที่เป็นธรรมทูตอย่างครบครัน และยุคใหม่ของกิจกรรมธรรมทูตแห่งชุมชนคริสตชน ข้าพเจ้าขอย้ำอีกครั้งว่า ความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ของโมเสสที่มีต่อประชากรของพระเจ้าระหว่างการเดินทางของพวกเขาคือ “เราปรารถนาจะให้พระยาห์เวห์ประทานพระจิตของพระองค์แก่ประชากรทั้งปวง และให้เขาทุกคนเป็นประกาศกด้วย” (กดว 11.29) แท้จริงแล้วเราทุกคนในพระศาสนจักรเป็นธรรมทูตอยู่แล้วโดยทางศีลล้างบาป เป็นประกาศก เป็นประจักษ์พยาน เป็นธรรมทูตขององค์พระผู้เป็นเจ้า ด้วยพระอานุภาพของพระจิตเจ้า จนสุดปลายแผ่นดิน ข้าแต่พระนางมารีย์ ราชินีแห่งการแพร่ธรรม โปรดอธิษฐานภาวนาเพื่อข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยเทอญ

กรุงโรม มหาวิหารลาเตรัน

6 มกราคม 2022

สมโภชพระคริสตเจ้าแสดงองค์
 ฟรังซิส

 >>>> Download สาส์นวันแพร่ธรรมสากล 2022 <<<<

LINKS

www.ppoomm.v

http://www.catholicmission.org.au/http://www.missionsocieties.ca/www.pms-phil.orgwww.missio.org.mthttp://www.obrasmisionalespontificias.es/คณะธรรมทูตไทย

สถิติการเยี่ยมชม

14522341
Today
Yesterday
This Week
This Month
All days
236
426
1375
7363
14522341
Your IP: 18.209.209.246
2024-03-29 05:55